Hot Topic!
น้องแบม คนดีที่อยู่ยาก กับภารกิจแฉขบวนการโกงเงินคนจน ความทุรยศที่ใหญ่กว่าที่นึก ลึกล้ำกว่าที่คิด
โดย ACT โพสเมื่อ Mar 12,2018
- - สำนักข่าวผู้จัดการสุดสัปดาห์ - -
เรียกว่าเป็น "คนดี 2561" ที่อยู่ยากเสียจริงๆ สำหรับ 2 คนที่สังคมให้การยกย่องว่าเป็น "ฮีโร่" สำหรับ พ.ศ.นี้ คือ "น้องแบม" น.ส.ปณิดา ยศปัญญา" นิสิตคณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม(มมส.) ที่ออกมาเปิดเผยข้อมูลการทุจริตของ "ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง" กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ "นายวิเชียร ชิณวงษ์" หัวหน้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าทุ่งใหญ่นเรศวรด้านตะวันตก ที่เข้าจับกุมคณะของ "นายเปรมชัย กรรณสูต" บิ๊กบอสอิตาเลียน-ไทย ที่เข้าไปล่าสัตว์ป่าได้แบบคาหนังคาเขา
กรณีของหัวหน้าวิเชียร สังคมกำลังเป็นห่วงว่าหลังจากนี้เส้นทางชีวิตของเขาจะดำเนินต่อไปอย่างไร เพราะดูเหมือนเจ้าหน้าที่ที่ทำการสืบสวนสอบสวนจ้องดิสเครดิตมาตั้งแต่เริ่มแรก ด้วยข้อหาไม่เก็บค่าธรรมเนียมค่าเข้าเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่า รวมถึงการเรียกสอบครั้งแล้วครั้งเล่าราวกับเป็นผู้ต้องหาเสียเอง
ขณะที่ในส่วนของ "น้องแบม" นั้น ผลพวงของความกล้าที่น่ายกย่องทำให้สังคมได้รับรู้ถึงความฟอนเฟะของขบวนการทุจริตในภาครัฐที่ซึมลึกไปในทุกองคาพยพ แม้กระทั่งในกระทรวงที่ได้ชื่อว่า "กระทรวงนักบุญ" ซึ่งมีหน้าที่ให้ความช่วยเหลือและสงเคราะห์ผู้ยากไร้ในสังคม แต่ตัวของเธอเองกลับต้องเผชิญเรื่องราวต่างๆ อย่างไม่น่าเชื่อ โดยเฉพาะในสถาบันการศึกษาที่เธอเล่าเรียนซึ่งเต็มไปด้วยเงื่อนงำและปริศนาอันน่าสงสัย เนื่องจากปฏิกิริยาที่มีต่อตัว "น้องแบม" นั้น ดำเนินไปอย่างล่าช้า แถมถ้าจะว่าไปแล้วก็มี "ทัศนคติในเชิงลบ" กับ "น้องแบม" เสียด้วยซ้ำไป
ยิ่งสอบลึก ยิ่งลาม ยิ่งรับรู้ความฟอนเฟะ
เรื่องทุจริตอื้อฉาวภายใน "กระทรวงนักบุญ" กำลังถูกสาวไส้ออกมาไม่หยุดหย่อน เพราะจากจุดเริ่มต้นที่ จ.ขอนแก่นได้มีการขยายผลออกไปในศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ อีกกว่า 24 จังหวัด ซึ่งตอกย้ำพฤติกรรมการทุจริตคอร์รัปชันของ "ข้าราชการขี้ฉ้อ" ที่ยังคงเป็นปัญหาใหญ่ของประเทศไทย และไม่ว่ารัฐบาลไหนก็ไม่สามารถจัดการให้ลดน้อยลงไปได้
ที่สำคัญคือ การเปิดโปงขบวนการดังกล่าวนำไปสู่คำสั่งย้าย "2 บิ๊กกระทรวงนักบุญ" หลังถูกกล่าวหาพัวพันทุจริต เพื่อเปิดทางสอบสวนหาข้อเท็จจริงนั่นก็คือ "นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์" ปลัดกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) และ "นายณรงค์ คงคำ" รองปลัด พม. ให้มาปฏิบัติราชการที่สำนักนายกรัฐมนตรีในฐานะที่ปรึกษาผู้ทรงคุณวุฒิของนายกรัฐมนตรี หลังก่อนหน้านี้ มีคำสั่งย้าย "นางพวงพะยอม จิตรคง" ผอ. ศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่ง จ.ขอนแก่น ในทันทีหลังมีการร้องเรียนต่อสำนักเลขาธิการ คสช.
ทั้งนี้ เมื่อย้อนกลับไปที่จุดเริ่มต้นของการตรวจสอบ "บิ๊กกระทรวงนักบุญ" ก็จะพบเงื่อนงำที่น่าสนใจมากมาย โดยก่อนหน้าที่ "น้องแบม" จะเข้าร้องเรียนนั้น สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน(สตง.) ได้ตรวจพบทุจริตและได้มีหนังสือด่วนลับมาก ที่ ตผ.0039/643 ลงวันที่ 30 มิ.ย.60 แจ้งเรื่องการบริหารเงินสงเคราะห์ผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2560 ต่อ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (รมว. พม.) มาแล้ว แต่เรื่องกลับเงียบและมิได้แพร่งพรายออกมาสู่สาธารณชนประการใด
รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมฯในขณะนั้นก็คือ บิ๊กอู๋ "พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว" ก่อนจะย้ายไปเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงานในปัจจุบัน โดยมี "นายไมตรี อินทุสุต เป็นปลัด พม. ขณะที่ "นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์" ดำรงตำแหน่งอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส) ก่อนที่บิ๊กอู๋จะเป็นคนชงเสนอชื่อให้นายพุฒิพัฒน์เป็นปลัด พม.หลังนายไมตรี เกษียณอายุราชการ เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2560
หนังสือ สตง. ระบุเอาไว้ชัดเจนว่า ขอให้ รมว. พม. ตรวจสอบเรื่องข้อเท็จจริงการเบิกจ่ายงบประมาณเงินอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ปีงบประมาณ 2560 เนื่องจาก สตง. ได้รับแจ้งข้อมูลเกี่ยวกับการปฏิบัติหน้าที่ของผู้บริหารมีพฤติกรรมทุจริต มีการโอนงบประมาณรายจ่ายงบอุดหนุนประเภทเงินสงเคราะห์ครอบครัวผู้มีรายได้น้อยและผู้ไร้ที่พึ่ง ปีงบประมาณ 2560 ไปให้หน่วยงานในสังกัดส่วนภูมิภาค โดยเฉพาะนิคมสร้างตนเอง และศูนย์พัฒนาราษฎรบนที่สูงบางแห่ง (ศูนย์พัฒนาและสงเคราะห์ชาวเขา) แล้วเรียกกลับคืน 20-50 เปอร์เซ็นต์ รวมทั้งการจ่ายเงินไม่ครบไม่เต็มจำนวน
คำถามที่ดังอึงมี่ไปทั้งสังคมและต้องการคำถามก็คือ เหตุใดในขณะนั้น "พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว" จึงไม่มีการตรวจสอบติดตามเรื่องดังกล่าว ทำไมจึงปล่อยให้เกิดการทุจริตแสวงหาผลประโยชน์กับเงินคนจน-คนยากไร้ และหากน้องแบมไม่ออกมาเปิดโปงขบวนโกงจนเป็นข่าวใหญ่โต เหตุทุจริตนี้จะก็ยังคงดำเนินต่อไปเรื่อยๆ เช่นนั้นใช่หรือไม่ จนมีบางฝ่ายออกมาทวงถามความรับผิดชอบทางการเมืองจาก "บิ๊กอู๋"
และเมื่อเรื่องเกิดขึ้นในยุคของ พล.ต.อ.อดุลย์ รัฐบาลก็ควรที่จะต้องตั้งคณะกรรมการขึ้นมาตรวจสอบ เพราะถือว่ารับรู้เรื่องราวมาตั้งแต่ต้น และที่สำคัญคือเป็นคนผลักดันให้นายพุฒิพัฒน์ก้าวขึ้นสู่ตำแหน่งปลัดกระทรวง พม.อีกต่างหาก ดังนั้น จะปล่อยประหนึ่งจงใจตัดตอนไม่ให้ลามไปถึงก็คงจะไม่ใช่เรื่องที่ถูกต้อง
ขณะเดียวกัน ยิ่งตรวจสอบลึกลงไปก็ยิ่งพบปมทุจริต ซึ่งไม่ได้มีแค่เรื่องศูนย์คุ้มครองค้นไร้ที่พึ่งเท่านั้น หากยังเกี่ยวกับไปถึงความไม่ชอบมาพากลเรื่องการจัดซื้อ "ผ้าห่ม" ที่เกิดขึ้นในกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.) พ่วงเข้ามาอีก 1 เรื่อง ด้วยมีข้อมูลว่า พส.ใช้งบประมาณร่วม 400 ล้าน ระหว่างปีงบประมาณ 2557-2559 เพื่อจัดซื้อผ้าห่มจากวิสาหกิจชุมชนและกลุ่มพัฒนาอาชีพ กว่า 1.63 ล้านผืน ในราคาผืนละ 240 บาท ซึ่งมีข้อมูลเปิดเผยว่าท้องตลาดขายอยู่ราคาเพียง 160 - 170 บาท เท่านั้น
และก็เป็นเรื่องบังเอิญอย่างเหลือเชื่ออีกเช่นกันว่า อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ(พส.)ในช่วงปี 2557-2559 นั้น มีชื่อว่า "นายพุฒิพัฒน์ เลิศเชาวสิทธิ์"
อย่างไรก็ดี ขณะนี้ยังไม่มีข้อสรุปหรือความคืบหน้าในการดำเนินการตรวจสอบเรื่องนี้แต่ประการใด มีเพียงคำยืนยันจาก นางนภา เศรษฐกร อธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) คนปัจจุบันว่า "พส.ได้กำหนดคุณลักษณะของผ้าห่มนวมกันหนาว โดยอ้างอิงกับ คุณลักษณะเดียวกันกับที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย ได้กำหนดไว้ตามประกาศกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลงวันที่ 20 มีนาคม พ.ศ. 2556 เรื่องรายละเอียด คุณลักษณะเฉพาะและกำหนดราคากลางสิ่งของสำรองจ่าย พ.ศ. 2556 โดยมีการกำหนดเพิ่มในส่วนของขนาดและน้ำหนักของผ้าห่มนวมกันหนาว ซึ่งอยู่ในราคาเดียวกันกับที่กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กระทรวงมหาดไทย จัดซื้อและในการดำเนินการสั่งซื้อสั่งจ้าง"
ขณะเดียวกันสอบไปสอบมายังพบว่า กรณี "โกงเงินคนจน" อาจมีความเกี่ยวพันกับเรื่อง "เก้าอี้" อีกต่างหาก เพราะเมื่อตรวจแถวข้าราชการระดับ "ซี 9" ของ พม.ก็พบว่า มีแต่คนจาก "กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ" ขึ้นมาแทบยกแผง
ดังเช่นที่มีข้อมูลออกมาในงานเสวนา "กรณีโกงเงินคนจน" ที่สมาคมนักข่าวนักหนังสือพิมพ์แห่งประเทศไทยเป็นผู้จัดขึ้น และวัชระ เพชรทอง อดีต ส.ส.จอมแฉของพรรคประชาธิปัตย์ ได้เปิดโปงให้เห็นว่า การโกงเงินคนจนครั้งนี้ทำกันเป็น ขบวนการใหญ่ มีข้าราชการเกี่ยวข้องจำนวนมาก หาเงินวิ่งเต้นซื้อตำแหน่ง และมีข้าราชการระดับสูงเป็นหัวขบวน
เห็นข้อมูลแล้ว ต้องบอกว่า งานนี้ สืบหาร่องรอยไม่ยาก เพียงแต่ว่าจะสามารถลากไปให้ "สุด" หรือไม่ก็เท่านั้นเอง
สำหรับความคืบหน้าของคดีนั้น "พ.ท.กรทิพย์ ดาโรจน์" เลขาธิการคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตในภาครัฐ (ป.ป.ท.) เปิดเผยว่าพบศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งฯ ที่ปรากฎพฤติการณ์เกี่ยวข้องกับการทุจริตแล้ว 24 จังหวัด ดังต่อไปนี้ เชียงใหม่ บึงกาฬ หนองคาย สระบุรี อุดรธานี สุราษฎร์ธานี พระนครศรีอยุธยา น่าน กระบี่ ตราด ตรัง สระแก้ว ร้อยเอ็ด ยะลา สงขลา นราธิวาส พัทลุง ชุมพร บุรีรัมย์ สุรินทร์ อ่างทอง พิษณุโลก ชัยภูมิ และ ขอนแก่น นอกจากนี้ ยังมีอีกหลายจังหวัดด้วยกันที่รอการตรวจสอบ ซึ่งผลสอบแต่ละแห่งล้วนมีรูปแบบการทุจริตเหมือนกับกรณีศูนย์คุ้มครองคนไร้ที่พึ่งที่ จ.ขอนแก่น
ทั้งนี้ รูปแบบขบวนการทุจริต คือ การทำแบบสำรวจข้อมูลผู้ประสบปัญหาทางสังคม เพื่อระบุว่าคนไหนที่เข้าข่ายได้รับเงิน 4 ขั้นตอน 1. ให้พื้นที่ส่งรายชื่อคนไร้ที่พึ่ง เพื่อลงในเอกสารแสดงความจำนง 2. ศูนย์จะส่งนักสังคมสงเคราะห์ลงพื้นที่ ตรวจสอบคุณสมบัติว่าเข้าข่ายหรือไม่ เพื่อยืนยันข้อมูล 3. เสนอต่อผู้มีอำนาจพิจารณาให้การช่วยเหลือ โดยรองผู้อำนวยการศูนย์เป็นผู้ลงนาม และ4. อนุมัติโดยผู้อำนวยการศูนย์ มีหน้าที่แทนอธิบดีกรมพัฒนาสังคมฯ ซึ่งการทุจริตในหลายพื้นที่เริ่มในขั้นตอนที่ 2 ในขั้นตอนการข้อมูลเท็จ นอกจากนี้ ยังมีในลักษณะนำชื่อบรรดาข้าราชการท้องถิ่น อาทิ ภรรยาผู้ใหญ่บ้าน ภรรยากำนัน ฯลฯ มาเบิกเงินทั้งๆ ที่คุณสมบัติ ไม่เข้าเกณฑ์ไม่ได้ยากไร้แต่อย่างไร
นอกจากนั้น ยังพบการทุจริตการใช้เงินงบประมาณของนิคมสร้างตนเองหลายแห่ง และหาก ป.ป.ท. ตรวจสอบพบว่ามีข้าราชการระดับสูงเกี่ยวข้อง จะส่งต่อไปยังคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เพื่อดำเนินการต่อไป ระหว่างนี้ยังคงต้องรอผลสอบข้อเท็จจริงในสิ้นเดือน มี.ค.ศกนี้
ขณะที่ พ.ต.ท.วันนพ สมจินตนากุล ผู้ช่วยเลขาฯ ป.ป.ท.ให้ภาพเพิ่มเติมด้วยว่า "ที่พบการกระทำผิดเพิ่มเติมอีก 10 จังหวัด ส่วนใหญ่เป็นทางภาคใต้ ซึ่งมีการนำชื่อข้าราชการท้องถิ่น เช่น ภรรยาผู้ใหญ่บ้านหรือกำนันมาเบิกงบดังกล่าว อยู่ระหว่างการตรวจสอบ"
แต่ที่ต้องขีดเส้นใต้เอาไว้ก็คือ เลขาฯ ป.ป.ท.ระบุเอาไว้ว่า ระหว่างเจ้าหน้าที่ลงพื้นที่ตรวจสอบได้รับเบาะแสข้อมูลต่างๆ จากประชาชน พบเจ้าหน้าที่ของรัฐทั้งผู้ที่ยังรับราชการและนอกราชการเข้ามาเกี่ยวข้อง รวมทั้งน่าจะมีคนนอกศูนย์ฯ เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย ซึ่งคนนอกศูนย์มีทั้งข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ และผู้ที่ไม่ใช่ข้าราชการ แต่ยังไปไม่ถึงว่าจะเกี่ยวข้องกับนักการเมืองท้องถิ่น ปลัด หรือรองปลัดกระทรวง พม.หรือไม่ ซึ่งก็ทำให้หลายคนเสียวๆ และมีความวิตกกังวลว่างานนี้อาจจะมี "การตัดตอน" หรือไม่
อย่าปล่อยให้ "น้องแบม" ต้องเดียวดาย
ประเด็นสำคัญที่ต้องจับตามองเป็นพิเศษไม่แพ้เรื่องคดีก็คือ ตัวของ "น้องแบม" เจ้าของวีรกรรมหาญกล้าผู้ออกมา "เปิดโปง" ขบวนการ "โกงเงินคนจน" จนนำมาซึ่งการตรวจสอบมหากาพย์การโกงภายในกระทรวงนักบุญ
แน่นอนว่า ท่ามกลางการ "แซ่ซ้องสรรเสริญ" ต้องยอมรับถึง "ความเสี่ยง" เพราะการเปิดโปงขบวนการโกงเงินคนจนของน้องแบมในครั้งนี้ มีเจ้าหน้าที่ของรัฐพัวพันปมทุจริตเป็นจำนวนมาก มีคนบาปในคราบนักบุญได้รับผลกระทบจำนวนไม่น้อย การทำความดีของ น้องแบม จึงกลายเป็นการชักนำภัยมาสู่ตัวเอง
แม้กระทั่ง "ครู-อาจารย์" ยังสยบยอมต่อพฤติการณ์ทุจริตของผู้หลักผู้ใหญ่ ถึงขั้นบังคับให้นักศึกษาฝึกงาน "กราบเท้าคนโกง" เพื่อยุติเหตุโดยไม่ยี่หระต่อข้อเท็จจริงใดๆ ทั้งตำหนิต่อว่าจากผู้ที่ได้ชื่อว่าเป็น "ครู-อาจารย์" มิหนำซ้ำ เด็กยังถูกคุกคามให้หยุดเคลื่อนไหว อยู่ด้วยความประหวั่นพรั่นพรึงจนต้องร้องขอความคุ้มครองจากเจ้าหน้าที่ฯ
"น้องแบม"เปิดเผยว่าหลังจากได้นำข้อมูลมาแจ้งกับอาจารย์ตั้งแต่ที่รู้ว่ามีการทุจริต แต่กลับถูกมองเป็น "เด็กเลี้ยงแกะ" และถูกสั่งให้กราบเท้าเจ้าหน้าที่ที่ทำผิดเพื่อให้เรื่องจบลงไป
การกระทำที่ถูกต้องของน้องแบมที่สมควรยกย่องสรรเสริญในความกล้า กลับกลายเป็นถูกมองว่า เป็นต้นเรื่องของความวุ่นวาย ส่งผลกระทบสร้างความเดือดร้อนแก่ผู้คนจำนวนมาก และสร้างความเสียหายแก่สถาบัน
"ตรงนี้ต้องไปถามผู้บริหารและอาจารย์ดังกล่าวเองว่าทำไมจึงไปตำหนิเด็ก แต่ส่วนตัว ผมเห็นว่าเด็กได้ทำในสิ่งที่ดีงามและเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติ เราควรมีหน้าที่ชื่นชมและให้กำลังใจแก่เด็ก"นพ.อุดม คชินทร รมช.ศึกษาธิการให้ความเห็นถึงเรื่องดังกล่าว
อย่างไรก็ดี นอกจากเรื่องดังกล่าวข้างต้นแล้ว อีกประเด็นที่น่าสนใจไม่แพ้กันคือการที่ "น้องแบม"ถูกเปลี่ยนหัวข้องานวิจัยซึ่งส่งผลกระทบต่อการเรียนในชั้นปีสุดท้าย โดยสังคมกำลังเป็นห่วงและตั้งข้อสังเกตว่าเป็นการ "กลั่นแกล้ง" หรือไม่? เพราะการทำวิจัยเป็นขั้นตอนสุดท้ายของการสำเร็จการศึกษา เท่ากับว่า น้องแบมต้องนับหนึ่งเริ่มต้นทำวิจัยใหม่
ทว่า ทางอาจารย์ให้เหตุผลว่าการเปลี่ยนพื้นที่การทำวิจัยจากจังหวัดขอนแก่นมาอยู่ที่เทศบาลเมืองมหาสารคาม เพื่อให้อยู่ใกล้มหาวิทยาลัยมหาสารคาม และเพื่อความปลอดภัยของตัวนักศึกษาเอง
ส่วนผู้บริหารมหาวิทยาลัย ในช่วงเริ่มแรกได้ออกมาให้สัมภาษณ์ในทำนองที่มีอาจตีความเป็นอย่างอื่นได้ว่า ต้องการ "กลบกระแสสังคม" โดยยืนยันว่าเรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างนักศึกษาและอาจารย์คู่กรณีเป็นเรื่องเข้าใจผิด บิดเบือนไปจากข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ก่อนที่จะกลับหลังหันชนิด 360 องศาในเวลาต่อมาด้วยการประกาศยกย่องให้เป็นไอดอลผู้กล้าแห่งมหาวิทยาลัยมหาสารคาม แถมเตรียมมอบรางวัล "50 ปี คนดี ศรีโรจนากร"
แต่เรื่องที่เหลือเชื่อไปกว่านั้นก็คือ ขณะที่หน้าฉากทำประหนึ่งยกย่อง แต่ก็มีข้อมูลหลังฉากออกมาเช่นกันว่า มีความพยายาม "ล็อบบี้" สภาคณาจารย์ ที่เป็นผู้ตั้งกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง "อาจารย์คู่กรณี" เพื่อให้ผลสอบเอียงมาทางฝั่งอาจารย์มากกว่าฝั่งนิสิตอีกต่างหาก...
อย่างไรก็ตาม สำหรับความคืบหน้าในการสืบสวนสอบสวนเรื่องของน้องแบมนั้น "ผศ.ดร.วิรัตน์ ปานศิลา" ประธานสภาคณาจารย์ มหาวิทยาลัยมหาสารคาม (มมส.) เปิดเผยว่า ทางมหาวิทยาลัยมหาสารคามได้มีการตั้งคณะกรรมการสอบสวนทั้งหมด 9 คน ตรวจสอบหาข้อเท็จจริงใน 6 ประเด็น ดังต่อไปนี้
1. อาจารย์ของหลักสูตรได้มีการร่วมกันปกปิดการ ปลอมแปลงเอกสารเบิกเงิน ซึ่งเป็นการกระทำที่ผิดกฎหมายหรือไม่
2. เหตุใดอาจารย์จึงไม่ให้นิสิตดำเนินการแจ้งความ เพื่อเป็นการป้องกันนิสิต ซึ่งจะเป็นผลดีต่อนิสิตในภายหลังหากว่ามีการดำเนินคดีกับผู้กระทำผิด แต่กลับนำนิสิตไปไกล่เกลี่ยและมีการบังคับข่มขืนใจให้นิสิตก้มกราบผู้กระทำผิดหรือไม่
3. มีการใช้มือฟาดนิสิตหรือไม่ และหากมี อาจารย์คนดังกล่าวทำผิดจรรยาบรรณหรือไม่
4. การเรียกนิสิตมาสอบสวนและกระบวนการสอบสวนโดยคณะใช้อำนาจถูกต้องหรือไม่ ให้ความเป็นธรรมกับนิสิตหรือไม่และมีการละเมิดสิทธิของนิสิตหรือไม่
5. เหตุใดต้องมีการห้ามแชร์ข่าวและการห้ามนิสิตแชร์ข่าว แต่กลับปล่อยให้นิสิตบางกลุ่มโพสต์ข้อความในเชิงโจมตีนิสิต เป็นการละเมิดสิทธิของนิสิตหรือไม่และเป็นการปฏิบัติสองมาตรฐานหรือไม่ และ 6. ให้มีกลไกในการคุ้มครองสิทธินิสิตคนดังกล่าว เนื่องจากกำลังศึกษาชั้นปีที่ 4 ขณะที่อาจารย์คู่กรณีเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาการทำวิทยานิพนธ์ ประธานและกรรมการหลักสูตรและเป็นหัวหน้าภาควิชา ที่มีอำนาจหน้าที่ในการพิจารณาผลการเรียน อีกทั้งป้องกันไม่ให้อาจารย์ใช้อำนาจหน้าที่ละเมิดสิทธินิสิตคนดังกล่าวอีก
และนั่นเป็นที่มาของการที่ น้องแบมปฏิเสธรับโล่เชิดชูเกียรติ "50 ปี คนดี ศรีโรจนากร" ของมหาวิทยาลัยมหาสารคาม โดยให้เหตุผล ขอรอฟังผลสอบข้อเท็จจริงทั้ง 6 ประเด็น ซึ่งจะสรุปภายในกลางเดือน มี.ค. เสียก่อน เพื่อสร้างความเป็นธรรมแก่ตนเอง
กระนั้นก็ดี "น้องแบม" คนดีที่อยู่ยาก ก็ใช่ว่าจะไม่มีคนเห็นถึงความกล้าหาญเสียทีเดียว เพราะนอกจากสังคมที่พร้อมใจกันออกมาปกป้องแล้ว ก็ยังมี "ดร.อาทิตย์ อุไรรัตน์" อธิการบดีมหาวิทยาลัยรังสิต ประกาศอ้าแขนรอต้อนรับและปรารถนามอบ "รางวัลเหรียญทองคนดีศรีสังคมธรรมาธิปไตย มหาวิทยาลัยรังสิต" แก่นักศึกษาที่มีความประพฤติดีงามอย่าง "น้องแบม-ปณิดา ยศปัญญา" พร้อมแสดงความปีติยินดีมอบทุนการศึกษาปีสุดท้ายอีกด้วย
#ACTองค์กรต่อต้านคอร์รัปชัน